เปิดรับข้อเสนอโครงการย่อยภายใต้โครงการ “พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต: Citizen Resilience Project”

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก6) เปิดรับข้อเสนอโครงการย่อยภายใต้โครงการ “พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต: Citizen Resilience Project” จำนวน 40 โครงการ มูลค่าโครงการละไม่เกิน 100,000 บาท มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการตั้งแต่เมษายน 2563 ถึง กรกฏาคม 2563 โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์หลัก 5 ประเด็น ดังนี้
1) ความรู้เกี่ยวกับ COVID – 19 (COVID – 19 Literacy): การสร้างเอกภาพของข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตในช่วงการระบาดของไวรัส COVID – 19 ทั้งข้อมูลลักษณะของไวรัส การเตรียมพร้อมดูแลตนเอง การลดผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงเมื่อมีผู้ติดเชื้อ หรือ การฟื้นฟูตนเองหลังจากการติดเชื้อ การผ่านการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง และแม่นยำ เพื่อลดปัญหาของข่าวปลอม หรือ ข้อมูลที่คาดเคลื่อนทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น มุ่งเน้นการกระจายข้อมูลข่าวสารไปแก่สาธารณะ
2) การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing Promotion): การให้ความรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งข้อควรปฏิบัติทั้งเวลาที่อยู่ในบ้านและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรการหลักในการหยุดเชื้อตามหลักคิดสำคัญ “โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน” รวมไปถึงการแนะนำความแตกต่างของการกักกันตัวเอง (Self – Quarantine) และ การแยกตนเอง (Self – Isolation) ข้อควรปฏิบัติของการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาวะ เป็นต้น
3) การบรรเทาปัญหาทางสุขภาพจิต (Mental Health Relief): การลดแรงกระแทกที่เกิดจากความเครียดในภาวะวิกฤต หรือการดำรงชีวิตโดยการกักกันตัวเอง (Self – quarantine) และเป็นการลดความรุนแรงที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เลือกที่จะออกไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล รวมไปถึงการรักษาสภาพจิตใจจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อ ญาติสนิท ผู้ดูแล กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบต่ออาชีพ เป็นต้น
4) การส่งเสริมกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High – Risk Group Support): การลดผลกระทบให้กับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ กล่าวคือ โดยมากเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่และทำงานจากบ้าน (Work From Home) ได้ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ คนขับรถรับส่งอาหาร บุคลากรภาครัฐและวิสาหกิจที่ยังต้องทำงาน คนเก็บขยะรวมไปถึงกลุ่มที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน คนพิการไร้ญาติที่มีภาวะพึ่งพิงสูง ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
5) วิถีสุขภาวะปกติแบบใหม่ (New Normal of Well – Being): การสร้างโอกาสจากภาวะวิกฤต การหาทางเลือกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่วิถีสุขภาวะที่ดีกว่า หรือการสร้างนวัตกรรมด้านวิถีสุขภาวะ เช่น การลดการพบปะเพื่อลดโรคติดต่อ การรักษาสุขอนามัย การล้างมือ การใช้หน้ากากอนามัย การนำเอารูปแบบการทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดความเครียดจากการเดินทาง และเพิ่มเวลาเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดี แต่คงประสิทธิภาพการทำงานดังเดิม เป็นต้น
• รายละเอียดเพิ่มเติมและรับแบบฟอร์มข้อเสนอโครงการได้ที่: https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1aVupKHuFjdWRExpTUeJgoaOzXzU19ysN
• ติดตามรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน Zoom Meeting เวลา 20:00 วันที่ 1 เมษายน 2563 (เริ่มแจกลิ้งค์เพื่อเข้าร่วมพูดคุยสด ๆ ได้เวลา 19:50 ก่อนเวลาที่กำหนด 10 นาที)
• ส่งข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่ วันที่ 1 – 6 เมษายน 2563
• ประกาศผลการคัดเลือก 40 โครงการย่อยฯ ภายในวันที่ 10 เมษายน 2563
• ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Inbox Page Citizen Resilience Project ที่ https://www.facebook.com/CitizenResilience/ หรือ อีเมล: event@thetsis.com